ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้

calendar

การเเต่งกายประจำภาคอีสาน


การแต่งกายประจำภาคอีสาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน)


ภาษาภาคนี้สำเนียงคล้ายภาษาลาว ซึ่งเรามักจะเรียกว่าเป็นภาษา ?อีสาน?
ภาษาอีสานเช่น เว้า (พูด) แซบ (อร่อย) เคียด (โกรธ) นำ (ด้วย)
การแต่งกายส่วนใหญ่ใช้ผ้าทอมือ ซึ่งทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย และผ้าไหม

ผ้าพื้นเมืองอีสาน


ชาวอีสานถือว่าการทอผ้าเป็นกิจกรรมยามว่างหลังจากฤดู
การทำนาหรือว่างจากงานประจำอื่นๆ ใต้ถุนบ้านแต่ละบ้านจะกางหูกทอผ้ากันแทบทุกครัวเรือน โดยผู้หญิง
ในวัยต่างๆ จะสืบทอดกันมาผ่านการจดจำและปฏิบัติจากวัยเด็ก
ทั้งลวดลายสีสัน การย้อมและการทอ ผ้าที่ทอด้วยมือจะนำไปใช้ตัดเย็บทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม หมอน ที่นอน ผ้าห่ม และการทอผ้ายังเป็นการเตรียมผ้าสำหรับการออกเรือนสำหรับหญิงวัยสาว ทั้งการเตรียมสำหรับตนเองและเจ้าบ่าว ทั้งยังเป็นการวัดถึงความเป็นกุลสตรี เป็นแม่เหย้าแม่เรือนของหญิงชาวอีสานอีกด้วย ผ้าที่ทอขึ้นจำแนกออกเป็น 2 ชนิด คือ

1. ผ้าทอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน จะเป็นผ้าพื้นไม่มีลวดลาย เพราะต้องการความทนทานจึงทอด้วยฝ้ายย้อมสีตามต้องการ
2. ผ้าทอสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น ใช้ในงานบุญประเพณีต่างๆ งานแต่งงาน งานฟ้อนรำ ผ้าที่ทอจึงมักมีลวดลายที่สวยงามวิจิตรพิสดาร มีหลากหลายสีสัน
ประเพณีที่คู่กันมากับการทอผ้าคือการลงข่วง โดยบรรดาสาวๆ ในหมู่บ้านจะพากันมารวมกลุ่มก่อกองไฟ บ้างก็สาวไหม บ้างก็ปั่นฝ้าย กรอฝ้าย ฝ่ายชายก็ถือโอกาสมาเกี้ยวพาราสีและนั่งคุยเป็นเพื่อน บางครั้งก็มีการนำดนตรีพื้นบ้านอย่างพิณ แคน โหวต มาบรรเลงจ่ายผญาโต้ตอบกัน

เนื่องจากอีสานมีชนอยู่หลายกลุ่มวัฒนธรรม การผลิตผ้าพื้นเมืองจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรม
กลุ่มอีสานใต้
คือกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรที่กระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษและบุรีรัมย์ เป็นกลุ่มที่มีการทอผ้าที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะของตนเอง มีสีสันที่แตกต่างจากกลุ่มไทยลาว


เเหล่งที่มาhttp://www.esanclick.com/news.php?No=16402



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

การละเล่นพื้นบ้าน


การละเล่นพื้นเมือง


การละเล่น หมายถึง การเล่นดนตรี การเล่นเพลง การเล่นรำ การเล่นที่ต้องร่วมกันตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เรียกว่า มหรสพหรือศิลปะการแสดง
พื้นเมือง หมายถึง สิ่งที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ

การละเล่นพื้นเมือง หมายถึง การแสดงใด ๆ อันเป็นประเพณีนิยมในท้องถิ่นและเล่นกันใน ระหว่างประชาชน เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงตามฤดูกาล การแสดงต้องเป็นไปอย่างมีวัฒนธรรม มีความเรียบร้อย ใช้ถ้อยคำสุภาพ แต่งกายสุภาพถูกต้องตามความนิยมและวัฒนธรรม เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น สถานที่ก็ต้องจัดให้เหมาะสมกับโอกาสที่จะแสดง ซึ่งการละเล่นพื้นเมือง จะไม่เป็นอาชีพหรือเพื่อหารายได้ จะมีดนตรีหรือการขับร้อง หรือการฟ้อนรำประกอบก็ได้

การละเล่นพื้นเมือง แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ การแสดงพื้นเมือง และ เพลงพื้นเมือง

การแสดงพื้นเมือง หมายถึง การละเล่นที่มีการแสดง การร่ายรำ มีเพลงดนตรีประกอบ ที่ได้วางเป็นแบบแผน และนิยมเล่นหรือถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนแพร่หลาย
การแสดงพื้นเมือง อาจเกิดจากการบูชาบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น ขอให้สิ่งที่ตนนับถือประทานสิ่งที่ตนปรารถนา หรือขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ปรารถนา นอกจากนี้ ก็เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิงรื่นเริง

เพลงพื้นเมือง หมายถึง เพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ๆ ประดิษฐ์แบบแผนการร้องเพลง ไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดในท้องถิ่นของตน นิยมร้องเล่นกันในเทศกาลหรืองานที่มีการชุมนุมรื่นเริง เช่น ตรุษ สงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และในการลงแขกเกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นการเล่นที่สืบต่อกันมา
เนื้อความของเพลงพื้นเมืองที่นิยมร้องกัน มักจะเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ปะทะคารมกัน ในด้านสำนวนโวหาร สิ่งสำคัญของการร้องคือ การด้นกลอนสด ร้องแก้กันด้วยปฏิภาณไหวพริบ ทำให้เกิดความสนุกสนานทั้งสองฝ่า

การละเล่นพื้นเมืองภาคเหนือ

ในภาคเหนือ ภูมิประเทศเป็นป่าเขา ต้นน้ำลำธาร อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ การทำมาหากินสะดวกสบาย ชาวเหนือจึงมีนิสัยอ่อนโยน ยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจไมตรี การแสดงพื้นเมืองจึงมีลีลาอ่อนช้อย งดงามและอ่อนหวาน
การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ เรียกกันว่า ฟ้อน มีผู้แสดงเป็นชุดเป็นหมู่ ร่ายรำท่าเหมือนกัน แต่งกายเหมือนกัน มีการแปรแถวแปรขบวนต่าง ๆ
ลักษณะของการแสดงพื้นเมือง ได้แก่
ลีลาการเคลื่อนไหว เป็นไปตามเอกลักษณ์ของแต่ละภาค
เครื่องแต่งกาย เป็นลักษณะพื้นเมืองของภาคนั้น ๆ
เครื่องดนตรี เป็นของท้องถิ่น ได้แก่ ปี่แน กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบใหญ่ ฆ้องโหม่ง ฆ้องหุ่ย
เพลงบรรเลงและเพลงร้อง เป็นทำนองและสำเนียงท้องถิ่น

การแสดงพื้นเมืองภาคเหนือ ได้แก่ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บหรือฟ้อนเมือง ฟ้อนลาวแพน ฟ้อนรัก ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนดวงเดือน ฟ้อนดวงดอกไม้ ฟ้อนดวงเดือน ฟ้อนมาลัย ฟ้อนไต ฟ้อนดาบ ฟ้อนโยคีถวายไฟ ระบำชาวเขา รำกลองสะบัดไช

เพลงพื้นเมืองภาคเหนือ เช่น เพลงซอ เพลงชาวเหนือ เพลงดวงดอกไม้

ตัวอย่างเพลงพื้นเมืองภาคเหนือ

เพลงซอ ทำนองซอละม้ายหญิง
น้อยมานพอ้ายจะมาเป็นกู่ พี่มานพ ที่จุมาเป็นกู่
อ้ายช่างมีความฮู้ ติดตั๋วท่องหา พี่มีความรู้บ้างไหม
จะมาเป็นผัวมันต้องมีปัญญา ที่จะมาเป็นสามีต้องมีความรู้ปัญญา
ถ้าบ่หมีวิชาเอากั๋นตึงบ่ได้ ถ้าไม่มีวิชา แต่งงานกันไม่ได้
หากมานพจะมาเป็นผัว หากมานพจะมาเป็นสามี
ตั๋วจะต้องมีความฮู้เอาไว้ พี่ต้องมีความรู้เอาไว
หน้าต๋ากะหลวก ถ้าใจ่ก๋านบ่ได้ หน้าตาก็ฉลาด ถ้าใช้ทำงานไม่ได้
แล้วไผจะเอาอ้ายมานอนโตย แล้วใครจะเอาพี่มานอนด้วย
น้อยมานพจะมาเป็นกู่ พี่มานพจะมาเป็นคู่
ถ้าบ่หมีความฮู้ ข้าเจ้าตึงบ่เอาเป็นผัว ถ้าไม่มีความรู้น้องก็ไม่เอา มาเป็นสามี
สมัยเดี๋ยวอี่บัวตองตึงกั๋ว สมัยปัจจุบันนี้น้องบัวตองกลัว
บ่มีความฮู้ติดตั๋วเอากั๋นตึงบ่ได้ ไม่มีความรู้ติดตัวแต่งงานกันไม่ได้
ป่อแม่ข้าเจ้าตึงบ่เปิงใจ๋ พ่อแม่ของน้องจึงไม่พอใจ
กั๋วเอาของไปชุบบ่ตาย กั๋วอับ กั๋วอาย กลัวว่าจะเอากันไปใช้เปล่าๆ
ไปแผวปี่ แผวน้อง จิ่มแหล่นอ กลัวจะอายไปถึงพี่น้อง



การละเล่นพื้นเมืองภาคอีสาน

ภูมิประเทศภาคอีสานเป็นที่ราบสูง ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะพื้นดินไม่เก็บน้ำ ฤดูแล้งจะกันดาร ฤดูฝนน้ำจะท่วม แต่ชาวอีสานก็มีอาชีพทำไร่ทำนา และเป็นคนรักสนุก จีงหาความบันเทิงได้ทุกโอกาส
การแสดงของภาคอีสาน มักเกิดจากกิจวัตรประจำวัน หรือประจำฤดูกาล เช่น แห่นางแมว เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งสวิง เซิ้งกระติบ รำลาวกระทบไม้ ฯลฯ
ลักษณะการแสดงซึ่งเป็นลีลาเฉพาะของอีสาน คือ ลีลาและจังหวะในการก้าวเท้า มีลักษณะคล้ายเต้น แต่นุ่มนวล มักเดินด้วยปลายเท้าและสบัดเท้าไปข้างหลังสูง เป็นลักษณะของ เซิ้ง
ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ได้แก่ กลองยาว กรับ ฉาบ โหม่ง แคน โปงลาง

การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน ได้แก่ ฟ้อนภูไท เซิ้งสวิง เซิ้งโปงลาง เซิ้งตังหวาย ภูไทสามเผ่า ไทภูเขา เซิ้งกระติบข้าว


เพลงพื้นเมืองภาคอีสาน เช่น หมอลำ เพลงโคราช เจรียง กันตรึม เพลงล่องโขง เพลงแอ่วแคน

ตัวอย่างเพลงพื้นเมืองภาคอีสาน

หมอลำเพลิน
จังวางเปิดม่านกั้งแจ้งสว่างอยู่ในตา ตาส่องหาพี่ชายผู้เสื้อลายบ่มา บ้อ
แฟนพี่ชาย อยู่เทิงฮ่าน โอ้ โอย เด้ ชาย ฟังเด้ออ้าย เด้ออ้าย
ผู้ชายงามบ้านเพิ่น น่องมาคิดอยากได้โตเจ้าไว้กล่อมนอน
น่องผู้ฮ่าย ผู้ฮ่าย อ้ายสิบ่สนใจ เฮ็ดจั๋งได๋นอชาย
น่องคนจนพร้อม จนใจแล่ว ใจแล่ว
แนวมันพาทุกข์ หาความสุขกายใจอยู่ที่ไฮ่นา
เชิญเถิดค้า เถิดค่ามาจากันก่อน อย่าซิฟ่าวใจฮ่อน จ่มว่ารำคาญ
ขันไปบ้าน ไปบ้านขอนแก่นทางอีสาน ขอเชิญวงศ์วานเยี่ยมยามกันบ้าง
จาทอนี่ ทอนี่ พอเป็นแบบอย่าง ฮู่แนงทางตำนานครู ข้าได้สอนมา
ว่าจังได๋คนดี สนนางบอน้ออ้าย น้ออ้าย น้ออ้าย



การละเล่นพื้นเมืองภาคใต้

ภาคใต้ เป็นดินแดนที่ติดทะเลทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางด้านใต้ติดกับมลายู ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้าง และมีขนบประเพณีวัฒนธรรมและบุคคลิกบางอย่างคล้ายคลีงกัน คือ พูดเร็ว อุปนิสัยว่องไว ตัดสินใจรวดเร็วเด็ดขาด การแต่งกาย เพลง และดนตรีคล้ายคลึงกันมาก
การแสดงพื้นเมืองภาคใต้ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. มหรสพ คือ การแสดงเป็นเรื่อง เช่น หนังตะลุง มีตัวหนัง มีคนเชิด มีการร้องและเจรจา นอกจากนั้นมี ลิเกป่า หรือลิเกรำมะนา หรือลิเกแขกแดง หรือลิเกแขกเทศ หรือลิเกบก ซึ่งผู้แสดงโต้ตอบกันเป็นเรื่องราว อีกการแสดงคือ โนรา ถ้าเล่นเป็นเรื่องก็ถือเป็นมหรสพ แต่ถ้าร่ายรำเป็นชุด ก็ถือเป็นการแสดงเบ็ดเตล็ด
๒. การแสดงเบ็ดเตล็ด คือ ร่ายรำเป็นชุด เช่น โนรา ร็องเง็ง ซัมเปง ตารีกีปัส ระบำร่อนแร่ กรีดยาง ปาเต๊ะ รำซัดชาตรี
ดนตรีของภาคใต้ ได้แก่ กลองแขก รำมะนา ปี่ ทับ โหม่ง ฉิ่ง ซอ

เพลงพื้นเมืองภาคใต้ เช่น เพลงร้องเรือ(เพลงกล่อมเด็ก) เพลงบอก เพลงกำพรัด(หรือคำพลัด)

ตัวอย่างเพลงพื้นเมืองภาคใต้

เพลงบอก

เพลงบอก เป็นเพลงพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมสูงสุด และมีการแพร่กระจายทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดไปถึงคนไทยในประเทศมาเลเซีย ศิลปินที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา
คำว่าเพลงบอก มาจากภาระหน้าที่ของเพลงชนิดนี้ กล่าวคือ สมัยก่อนเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์จะมีนักเลงกลอนชาวบ้าน เที่ยวตระเวนไปแทบทุกครัวเรือน เพื่อขับร้องกลอนบอกสงกรานต์ตามคำทำนายของโหรหลวง เพลงชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า "เพลงบอก"

กลอนเพลงบอกพัฒนามาจาก "แปดบท" ขุนประดิษฐ์เป็นผู้คิดดัดแปลง จึงเรียกกันในครั้งนั้นว่า "เพลงบอกขุนประดิษฐ์" ต่อมาพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รัตนธัชเถร) ได้ปรับรูปแบบกลอนอีกครั้งหนึ่ง และได้ใช้แต่งเรื่อง "ศาลาโกหกหรือสัจจศาลา" มอบให้ลูกเสือมณฑลนครศรีธรรมราชนำไปร้องในคราวชุมนุมลูกเสือแห่งชาติที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2470

ผู้แสดง ใช้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงอย่างน้อย 6-7 คนหรือมากกว่านี้ก็ได้ ประกอบด้วยแม่เพลงและลูกคู่

การแต่งกาย แต่งกายแบบพื้นเมืองชาวภาคใต้ตามลักษณะชาวบ้านที่มีความเป็นอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ

การแสดง จะแตกต่างกันไปตามโอกาส ซึ่งถือว่ามีขนบนิยมในการเล่น ดังนี้

1. เล่นบอกสงกรานต์ เล่นได้ในช่วงตั้งแต่ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 จนถึงวันเถลิงศก โดยคณะเพลงบอกและผู้นำทางซึ่งเป็นคนในหมู่บ้าน ออกว่าเพลงบอกไปตามบ้านต่างๆ ตั้งแต่พลบค่ำจนสว่าง
วิธีเล่นเพลง เมื่อคณะเพลงบอกถึงเขตรั้วบ้าน แม่เพลงจะขึ้นบทไหว้ครู ไหว้นนทรี ซึ่งเป็นเทวดารักษาประตูบ้าน ไหว้พระภูมิและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เมื่อก้าวเข้าสู่ลานบ้านจะชมบ้านเรือน ทรัพย์สินต่างๆ ฝ่ายเจ้าบ้านจะเปิดประตูปูเสื่อต้อนรับนอกตัวเรือน หลังจากคณะเพลงบอกสนทนากับเจ้าบ้านชั่วครู่ ก็ร้องกลอนบอกเรื่องราวของสงกรานต์ที่โหรทำนายให้ทราบ เจ้าบ้านอาจให้คณะเพลงบอกร้องกลอนเล่าตำนานสงกรานต์ หรืออาจยกถาดข้าวขวัญจากยุ้งข้าวมาให้คณะเพลงบอกร้องบูชาแม่โพสพ เมื่อเจ้าบ้านพอใจก็จะตกรางวัลให้ตามธรรมเนียม คณะเพลงบอกจะร้องเพลงอวยพร แล้วไปร้องบอกสงกรานต์บ้านอื่นๆ ต่อไป

2. เล่นบอกข่าวคราวและโฆษณา เช่น งานบุญต่างๆ เพลงบอกจะร้องเชิญชวนทำบุญ โดยจุดที่เพลงบอกอยู่จะมีการรับบริจาค เมื่อถึงช่วงเลือกตั้ง ทางราชการอาจจะหาเพลงบอกมาร้องกลอนเชิญชวนชาวบ้าน ให้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง ชี้แนะให้เลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นต้น
ทางด้านการโฆษณาเพื่อผลทางธุรกิจ ได้มีบริษัทห้างร้านหลายแห่งใช้เพลงบอกโฆษณาสินค้าทางวิทยุ และในงานสวนสนุก

3. เล่นประชัน คือ จัดเพลงบอก 2 คณะ ให้ร้องโต้กลอนสด การเล่นจะจัดให้เพลงบอกคู่ประชันนั่งห่างกันประมาณ 1 วา โดยมีประธานนั่งกลาง แต่ละฝ่ายจะมีแม่เพลง 1 คน และลูกคู่ 2-3 คน ไม่มีกรรมการ เริ่มโต้โดยผลัดกันไหว้ครู จากนั้นฝ่ายหนึ่งร้องนำเป็นทำนองข่มสำทับฝ่ายตรงกันข้าม เช่น เรื่องบุคคลิกลักษณะ ประวัติชีวิต ความรู้ความสามารถ การกล่าวข่มสำทับจะใช้วิธีอุปมาหรือไม่ก็ยกอุทาหรณ์ประกอบ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องรู้ทันกัน การโต้จะดำเนินไปจนอีกฝ่ายเริ่มจนปัญญาจะยอมแพ้ หรือยุติกันไปเอง หรือไม่ก็ฟังเอาจากเสียงโห่ของคนฟัง ถ้าฝ่ายใดคนฟังให้เสียงโห่จนสิ้นเสียง ฝ่ายนั้นชนะ

4. ร้องชา เป็นการร้องเพลงบอกเพื่อการบวงสรวง บูชา หรือยกย่องชมเชย เช่น ชาขวัญข้าว ชาพระบรมธาตุ ชาปูชนียบุคคลและบุคคลสำคัญ
การร้องเพลงชาสิ่งเร้นลับเพื่อการบวงสรวง เช่น ชาขวัญข้าว จะต้องจัดเครื่องเซ่นบวงสรวงด้วย ลำดับขั้นตอนการในการร้องชาต้องถูกต้องตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมา

ดนตรี ใช้ฉิ่ง 1 คู่ สำหรับตีให้จังหวะ

เพลงร้อง จะใช้เพลงร้องเป็นกลอนเพลงบอกบทหนึ่งมี 2 บาท แต่ละบาทมี 4 วรรค คำสุดท้ายของบาทแรก ส่งสัมผัสไปยังคำสุดท้ายของบาทแรกของบทต่อไป

ตัวอย่างตอนหนึ่งจากการประชันเพลงบอก ระหว่างเพลงบอกรุ่ง อำเภอปากพนัง กับเพลงบอกปาน
อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

(รุ่ง) ปานนี้เปรียบเหมือนกับชูชก มันแสนสกปรกเหลือประมาณ
อ้ายเรื่องหัวไม้ขอทาน แล้วใครจะปานกับมัน
เปิดคนที่ขี้ขอ ยิ่งคนเขายอว่าสำคัญ
แล้วตัวมันยิ่งกินยอ เห็นว่าคนพอใจ
พัทลุงหรือสงขลา ตลอดมาถึงนคร
ถ้าปล่อยให้ปานขอก่อน แล้วคนอื่นไม่พักไขว่
(ปาน) จริงแหละรุ่งปานเหมือนชูชก แต่ปานจะยกรุ่งเป็นพระเวสสันดร
ครั้งชูชกเข้าไปวอน แล้วรุ่งให้ไม่เหลือไหร่
ถึงลูกเมียยังไม่แน่ ครั่งพอปานแวะเข้าไป
บางทีสิ่งไรที่รัก ใคร่ก็รุ่งต้องให้มา
(รุ่ง) เราไม่เป็นพระเวสสันดร เพราะจะเดือนร้อนในที่สุด
เราจะเป็นนายเจตบุตร ที่มันเลิศเป็นนักหนา
ได้รับคำสั่งท้าวเจตราษฏร์ เหมือนหมายมาดที่เป็นมา
คอยรักษาอยู่ประตูป่า ถ้ามึงมาเวลาใด
เราจะคอยยิงด้วยธนูหน้าไม้ ให้ชูชกมันวายชีวิต
น้ารุ่งยกกลอนขึ้นประดิษฐ์ เห็นว่าไม่ผิดไหร่
(ปาน) จริงแหละรุ่งตนเป็นเจตบุตร เป็นคนประเสริฐสุดงามวิไล
ถ้าเมื่อชูชกเข้าไป ต้องม้วยซึ่งชีวา
แต่คนอื่นอื่นเขาเลี้ยงวัว บางคนก็เลี้ยงควาย
แต่เจตบุตรรุ่งนาย ทำไมถึงเลี้ยงหมา



การละเล่นพื้นเมืองภาคกลาง

ภาคกลางมีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การกสิกรรม ทำนา ทำสวน ประชาชนอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ จึงมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่าง ๆ มากมาย ทั้งตามฤดูกาล ตามเทศกาล และตามโอกาสที่มีงานรื่นเริง
ภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงมีการถ่ายทอดสืบต่อกัน และพัฒนาดัดแปลงขึ้นเรื่อยๆ จนบางอย่างกลายเป็นการแสดงนาฏศิลป์แบบฉบับไปก็มี เช่น รำวง และเนื่องจากเป็นที่รวมของศิลปะนี้เอง ทำให้คนภาคกลางรับการแสดงของท้องถิ่นใกล้เคียงเข้าไว้หมด แล้วปรุงแต่งตามเอกลักษณ์ของภาคกลาง คือการร่ายรำที่ใช้มือ แขนและลำตัว เช่นการจีบมือ ม้วนมือ ตั้งวง การอ่อนเอียง และยักตัว

การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ได้แก่ รำวง รำเหย่ย เต้นกำรำเคียว เพลงเกี่ยวข้าว รำชาวนา เพลงเรือ เถิดเทิง เพลงฉ่อย รำต้นวรเชษฐ์ เพลงพวงมาลัย
เพลงอีแซว เพลงปรบไก่ รำแม่ศรี

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ วงปี่พาทย์

เพลงพื้นเมืองภาคกลาง เช่น เพลงเหย่อย เพลงเทพทอง เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงพิษฐาน เพลงเต้นกำ เพลงรำเคียว เพลงพวงมาลัย เพลงชาวไร่ เพลงระบำ เพลงบ้านนา เพลงปรบไก่ เพลงสวรรค์ เพลงแอ่วซอ

เพลงพื้นเมืองบางอย่างได้วิวัฒนาการมาเป็นการแสดงที่มีศิลปะ มีระเบียบแบบแผน เช่น เพลงทรงเครื่อง คือ เพลงฉ่อย ที่แสดงเป็นเรื่อง ได้แก่ เรื่องขุนช้างขุนแผน หรือเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่
ลักษณะการแสดง เริ่มด้วยการไหว้ครู แล้ว่าประ แก้กันอย่างเพลงฉ่อยตามประเพณี แล้วก็แสดงเป็นเรื่องอย่างละคร ร้องดำเนินเรื่องด้วยเพลงฉ่อย และเพลงอื่นแทรกบ้าง ใฃ้วงปี่พาทย์รับการร้องส่งบ้างหรือบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบกิริยาของตัวละครบ้าง

ตัวอย่างเพลงพื้นเมืองภาคกลาง


เพลงเกี่ยวข้าว
เพลงเกี่ยวข้าว เป็นเพลงที่สำหรับร้องกันในขณะลงแขกเกี่ยวข้าว อันเป็นอาชีพสำคัญของประชาชนชาวไทยอย่างหนึ่ง
เพื่อให้ความสนุกสนานกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการงาน และเชื่อมความสามัคคีในระหว่างพื้นบ้านอาชีพเดียวกัน
เนื้อความของเพลงมักจะเกี่ยวกับ การไต่ถามถึงการทำนาผสมผสานการเกี้ยวพาราสีกัน
เพลงเกี่ยวข้าว บางแห่งเรียก "เพลงกำ" เวลาแสดงมือหนี่งถือเคียว อีกมือหนึ่งกำข้าวไว้ ย่ำเท้าใช้ลีลาไปตามจังหวะเพลง ใช้ตบมือให้จังหวะพร้อมๆ กัน บางครั้งใช้กลองและฉิ่งเข้าร่วมด้วย

ตัวอย่างเพลง (ของเดิม)


ต้นเสียง ชะเอิง เงิงเงย ชะ เอิง เงิง เง้ย
ลูกคู่ เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้
ต้นเสียง แขกอาสาที่มาก็สาย ทั้งวัวทั้งควายพะรุงพะรัง (เฮ้ เอ้า เฮ้ เฮ้)
พี่ขี่ไอ้เผือกออกหน้า อีสร้อยระย้าตามหลัง
ลง พี่ขี่ไอ้ทุยลุยซังไปกระทั่งนาเอย (เวลาลง ร้องซ้ำสองครั้ง)
(ลูกคู่รับย้อนต้น พร้อมๆ กัน)
ต้นเสียง เกี่ยวข้าวอยู่ข้างทาง เห็นสายระยางเป็นเชือกชัก
พี่ขอถามน้องสาว ว่าทำข้าวเบาหรือว่าทำข้าวหนัก
ลง ขอยืมเคียวเกี่ยวสักพัก แม่คนที่รักกันเอย


เพลงเหย่อย
(ชาย) มาเถิดหนาแม่มา มาเล่นพาดผ้ากันเอย
พี่ตั้งวงไว้ท่า อย่านิ่งรอช้าเลยเอย
พี่ตั้งวงไว้คอย อย่าให้วงกร่อยเลยเอย
(หญิง) ให้พี่ยื่นแขนขวา เข้ามาพาดผ้าเถิดเอย
(ชาย) พาดเอยพาดลง พาดที่องค์น้องเอย
(หญิง) มาเถิดพวกเรา ไปรำกับเขาหน่อยเอย
(ชาย) สวยแม่คุณอย่าช้า ก็รำมาเถิดเอย
(หญิง) รำร่ายกรายวง สวยดังหงส์ทองเอย
(ชาย) รำเอยรำร่อน สวยดังกินนรนางเอย
(หญิง) รำเอยรำคู่ น่าเอ็นดูจริงเอย
(ชาย) เจ้าเขียวใบข้าว พี่รักเจ้าสาวจริงเอย
(หญิง) เจ้าเขียวใบพวง อย่ามาเป็นห่วงเลยเอย
(ชาย) รักน้องจริงจริง รักแล้วไม่ทิ้งไปเอย
(หญิง) รักน้องไม่จริง รักแล้วก็ทิ้งไปเอย
(ชาย) พี่แบกรักมาเต็มอก รักจะตกเสียแล้วเอย
(หญิง) ผู้ชายหลายใจ เชื่อไม่ได้เลยเอย
(ชาย) พี่แบกรักมาเต็มลำ ช่างไม่เมตตาเลยเอย
(หญิง) เมียมีอยู่เต็มตัก จะให้น้องรักอย่างไรเอย
(ชาย) สวยเอยคนดี เมียพี่มีเมื่อไรเอย
(หญิง) เมียมีอยู่ที่บ้าน จะทิ้งทอดทานให้ใครเอย
(ชาย) ถ้าฉีกได้เหมือนปู จะฉีกให้ดูใจเอย
(หญิง) รักจริงแล้วหนอ รีบไปสู่ขอน้องเอย
(ชาย) ขอก็ได้ สินสอดเท่าไรน้องเอย
(หญิง) หมากลูกพลูจีบ ให้พี่รีบไปขอเอย
(ชาย) ข้าวยากหมากแพง เห็นสุดแรงน้องเอย
(หญิง) หมากลูกพลูครึ่ง รีบไปให้ถึงเถิดเอย
(ชาย) รักกันหนาพากันหนี เห็นจะดีกว่าเอย
(หญิง) แม่สอนไว้ ไม่เชื่อคำชายเลยเอย
(ชาย) แม่สอนไว้ หนีตามกันไปเถิดเอย
(หญิง) พ่อสอนว่า ให้กลับพาราแล้วเอย
(ชาย) พ่อสอนว่า ให้กลับพาราพี่เอย
(หญิง) กำเกวียนกำกง ต้องจากวงแล้วเอย
(ชาย) กรรมวิบาก วันนี้ต้องจากเสียแล้วเอย
(หญิง) เวลาก็จวน น้องจะรีบด่วนไปก่อนเอย
(ชาย) เราร่วมอวยพร ก่อนจะลาจรไปก่อนเอย
(พร้อม) ให้หมดทุกข์โศกโรคภัย สวัสดีมีชัยทุกคนเอย
แหล่งที่มาhttp://www.banramthai.com/html/puenmuang.html



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

การประกอบอาชีพ


อาชีพของภาคอีสาน

อาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือการเพาะปลูก พืชที่สำคัญคือ ข้าว มันสำปะหลัง ปอ ข้าวโพด ภาคนี้มีพื้นที่ทำนามากกว่าภาคอื่น ๆ แต่ผลิตผลที่ได้ต่ำ เพราะดินของภาคอีสานเป็นดินปนทรายไม่อุ้มน้ำและการทำนาส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนซึ่งไม่ค่อยแน่นอน บางปีมีน้ำมาก บางปีไม่มีน้ำเลย พอถึงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำลำธารจะเหือดแห้งไปเสียส่วนใหญ่ จึงจะพบว่าพอถึงหน้าแล้งประชาชนจะอพยพไปหางานทำต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก ถึงฤดูฝนประชาชนก็ไม่ได้เตรียมการเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ให้เป็นที่แพร่หลายกัน เว้นแต่เก็บน้ำฝนไว้ดื่มกินเท่านั้น การขาดแคลนน้ำในภาคนี้ทำให้ไม่ค่อยมีการปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ทำให้ผลผลิตมีน้อยเป็นเหตุให้ประชากรในภูมิภาคนี้มีความยากจนเป็นส่วนมาก ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรทำให้เกิดโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง หรือที่รู้จักกันในนาม โครงการอีสานเขียว ความมุ่งหมายของโครงการนี้เพื่อหวังจะยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดีขึ้น โดยการหาและสร้างแหล่งน้ำ ปรับปรุงวิธีการประกอบอาชีพ ปรับปรุงด้านสุขภาพอนามัย สิ่งสำคัญที่ควรจะพิจารณาคือพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่งไม่เหมาะสำหรับปลูกข้าว เพราะข้าวต้องการน้ำมาก แต่เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงวัว แต่การเลี้ยงวัวเลี้ยงควายโดยการปลูกหญ้าให้เป็นอาหารสัตว์นั้นยังทำกันไม่ค่อยแพร่หลายในภาคนี้ การเลี้ยงสัตว์จึงไม่ค่อยได้ผล สำหรับงานฝีมือ เช่น การทอผ้าไหมและการจักสานในภาคนี้ทำกันได้ดีมีฝีมือประณีต แต่การทำในลักษณะที่เป็นกิจการใหญ่โตทำครั้งละมาก ๆ เพื่อการค้ายังไม่เป็นที่นิยมกันในหมู่ประชาชน เนื่องจากความขัดสนในพื้นที่ผู้คนในภาคนี้จึงได้ดิ้นรนไปหางานทำกันในภาคอื่น ส่วนมากไปในลักษณะการบุกเบิกหาที่ทำกินใหม่ เรียกว่า " หานาดี " ในภายหลังการหานาดีก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีพื้นที่จะให้บุกเบิกใหม่ ส่วนใหญ่จึงไปทำงานรับจ้างในที่ต่าง ๆ และไปกันถึงต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ บรูไน และในประเทศเขตทะเลทรายตะวันออกกลาง ปัญหาของภูมิภาคนี้คือการหาหนทางปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาค สร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เข้ากับสภาพทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์และตั้งโรงงานที่รองรับผลิตผล เหล่านี้จะสามารถแก้ปัญหาในภูมิภาคนี้ได้มาก อย่างไรก็ดีในปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ขยับขยายไปตั้งยังภาคอีสานมากขึ้น ซึ่งแหล่งซื้อแรงงานจากชาวอีสานแหล่งใหญ่ ทำให้ชาวอีสานไม่ต้องจากถิ่นฐานไปหางานทำต่างถิ่นเหมือนอย่างเคย แต่โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เข้ามาพร้อมกับการก่อปัญหาต่างๆมากมายต่อชุมชน ทั้งปัญหามลพิษ ปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไป และได้ทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบเดิมๆของชาวอีสานไปอย่างสิ้นเชิง โครงการต่างๆที่รัฐพยายามดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ชาวอีสาน เช่น โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้บ้าง แต่มักจะแก้ไม่ได้มากนักทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่แล้วโครงการต่างๆเหล่านี้จะขาดการช่วยเหลือหรือสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากส่วนราชการ เรียกว่าเป็นการดำเนินโครงการตามกระแสมากกว่าที่จะเป็นการดำเนินการอย่างยั่งยืน แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยเฉพาะโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ เช่น โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการศิลปาชีพ ซึ่งได้พลิกพื้นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการให้ดียิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการอนุรักษืวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

ภาษาอีสาน

ภาษาไทยถิ่นอีสาน เป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้พูดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นภาษาลาวสำเนียงหนึ่ง ในสำเนียงภาษาถิ่นของภาษาลาวซึ่งแบ่งเป็น 6 สำเนียงใหญ่ คือ:
ภาษาลาวเวียงจันทน์ ใช้ในท้องที่ เวียงจันทน์ บอลิคำไซ และในประเทศไทยท้องที่ จ.ชัยภูมิ หนองบัวลำภู หนองคาย (อ.เมือง ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย) ขอนแก่น (อ.ภูเวียง ชุมแพ สีชมพู ภูผาม่าน หนองนาคำ เวียงเก่า หนองเรือบางหมู่บ้าน) ยโสธร (อ.เมือง ทรายมูล กุดชุม บางหมู่บ้าน) อุดรธานี (อ.บ้านผือ เพ็ญ บางหมู่บ้าน)
ภาษาลาวเหนือ ใช้กันในท้องที่ เมืองหลวงพระบาง ไซยะบูลี อุดมไซ จ.เลย อุตรดิตถ์ (อ.บ้านโคก น้ำปาด ฟากท่า) เพชรบูรณ์ (อ.หล่มสัก หล่มเก่า น้ำหนาว) ขอนแก่น (อ.ภูผาม่าน และบางหมู่บ้านของ อ.สีชมพู ชุมแพ) ชัยภูมิ (อ.คอนสาร) พิษณุโลก (อ.ชาติตระการ และนครไทยบางหมู่บ้าน) หนองคาย (อ.สังคม) อุดรธานี (อ.น้ำโสม นายูง บางหมู่บ้าน)
ภาษาลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้กันในท้องที่เมืองเซียงขวาง หัวพัน ในประเทศไทยท้องที่บ้านเชียง อ.หนองหาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี และบางหมู่บ้าน ใน จ.สกลนคร หนองคาย และยังมีชุมชนลาวพวนในภาคเหนือบางแห่งในจังหวัด สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ ไม่กี่หมู่บ้านเท่านั้น
ภาษาลาวกลาง แยกออกเป็นสำเนียงถิ่น 2 สำเนียงใหญ่ คือ ภาษาลาวกลางถิ่นคำม่วน และถิ่นสะหวันนะเขด ถิ่นคำม่วน จังหวัดที่พูดในประเทศไทย เช่น จ.นครพนม สกลนคร หนองคาย (อ.เซกา บึงโขงหลง บางหมู่บ้าน) ถิ่นสะหวันนะเขด จังหวัดที่พูดมีจังหวัดเดียว คือ จ.มุกดาหาร
ภาษาลาวใต้ ใช้กันในท้องที่แขวงจำปาสัก สาละวัน เซกอง อัตตะปือ จังหวัดที่พูดในประเทศไทย จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร
ภาษาลาวตะวันตก ไม่มีใช้ในประเทศลาว เป็นภาษาที่ใช้ในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ท้องที่ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และบริเวณใกล้เคียงมลฑลร้อยเอ็ด ของประเทศสยาม
ในอดีตเคยเขียนด้วยอักษรธรรมล้านช้างสำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะหรือพระพุทธศาสนา หรือเขียนด้วยอักษรไทยน้อยสำหรับเรื่องราวทางโลก ปัจจุบันเขียนด้วยอักษรไทย มีพยัญชนะ 20 เสียง สระเดี่ยว 18 เสียง สระประสม 2-3 เสียง บางท้องถิ่นไม่มีเสียงสระเอือ
แหล่งที่มา th.wikipedia.org/wiki/ภาษาไทยถิ่นอีสาน

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS







อาหารท้องถิ่น
ภาคอีสานมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ อาหารการกินที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับผลผลิตของแต่ละอาชีพอาหารที่จัดว่ามีความสำคัญควบคู่กับความเป็นอยู่ของชาวอีสานตลอดมาคือ ข้าวและปลา จนมีคำพูดติดปากว่า “มาเยอมากินข้าวกินปลา” แสดงให้เห็นว่า อาหารการกินหลักของชาวอีสานคือข้าวกับปลา ข้าวที่คนไทยทั่วไปและคนในภาคอีสานบริโภคมีทั้งข้าวเหนียวและข้าวจ้าว ข้าวที่ใช้เวลาปลูกนานกว่าจะได้เก็บเกี่ยวเรียกว่า “ข้าวหนัก” ข้าที่ให้ผลเร็วใช้เวลาปลูก ไม่กินเวลานานนักก็สามารถเก็บเกี่ยวได้เรียกว่า “ข้าวเบา” มีคำกลอนวรรณกรรมอีสานพูดถึงข้าวที่มีความจำเป็นต่อชีวิตว่า
" ทุกข์บ่มีเสื้อผ้า ฝาเฮือนดีพอลี้อยู่ทุกข์บ่มีข้าวอยู่ท้อง ซินอนลี้อยู่บ่เป็น "
หมายความว่า แม้จะทุกข์จนขนาดใด เสื้อผ้าไม่มีจะสวมใส่ ถ้าฝาบ้านดีก็อหลบซ่อนอยู่ได้ แต่ถ้าทุกข์ จนไม่มีข้าวจะกิน จะนอนหลบอยู่ไม่ได้ คนอีสานจึงขยันขันแข็งในการทำมาหากินเพราะกลัวความจน ไม่ให้ขาดแคลน ซึ่งต่างจากวรรณกรรมของภาคเหนือที่กล่าวว่า
" ตุ๊กบ่ได้กิ๋น บ่มีไผต๋ามไฟส่องต๊องตุ๊กบ่ได้เอ้ได้ย่อง ชาวบ้านเปิ้นแคน "
หมายความว่า ทุกข์ไม่ได้กิน ไม่มีใครเอาไฟส่องท้องดู ทุกข์ไม่ได้แต่งตัวโก้ได้เก๋ชาวบ้านเขาดูแคลน
ประเภทของอาหารอีสาน
อาหารอีสานนอกจากมีข้าวและปลาแล้ว ยังมีอาหารประเภทซี้น (เนื้อ) สัตว์ ผัก ผลไม้ต่างๆ อีกมากมาย ธรรมเนียมการประกอบอาหารของคนอีสานนั้นมีความพิถีพิถันประณีต บรรจงมาก แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
อาหารคาว คือ ของกินพร้อมกับข้าว เพื่อเพิ่มรสชาติและคุณค่าทางอาหารกับข้าว ของชาวอีสานได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ กับข้าวของคนอีสานมีหลายประเภท ได้แก่ ลาบ ก้อย ส่า แซ หรือ แซ่ ซุบ แกง อ่อม อ๋อ คั่ว อู๋ หมก นึ่งหลาม ปิ้ง ย่าง ดอง หมัก ตากแห้ง กวน
ชูรสอาหาร ได้แก่ ป่นปลา (น้ำพริกปลา) แจ่ว (น้ำพริกต่างๆ) ส้มตำประเภทต่างๆ




แหล่งที่มาhttp://online.benchama.ac.th/social/kanokporn/les6_01.html

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

การแต่งงานกินดอง


การแต่งงานกินดอง

การกินดองนั้นเป็นประเพณีเก่าแก่ ตามโบราณกล่าวว่าอาวาหะมงคลบอกไว้ชายนั้นจากไปอยู่กับผู้หญิงลูกเผิ่นพุ้นเลยแต่งกินดอง เอาลูกเขยเรือนก็หากดีเอาล่น คำอาษิตลาวเว้าคำควรคักแน่ว่า เอาลูกเขยมาเลี้ยงพ่อแม่เฒ่า ปานได้ข้าวมาไว้ใส่เบี่ยอีกแบบหนึ่งนั้น ครั้นกินดอกแล้วเอาหญิงไปสมสู่ไปอยู่บ้านกับพ่อเฒ่าแม่เฒ่าแนวนี้ ก็หากหลายคำบรรยายมิไว้ว่า วิวาหะมงคลบนบอกภาษิตมีกล่าวไว้คำนี้คล่องคือ ว่าเอาลูกสะใภ้มาเลี้ยงปู่เลี้ยงย่า ปานว่าเอาผีเอาห่ามาใส่เรือนชาน คำอันนี้หาทางบ่ดีเอามากล่าว ลูกสะใภ้ดีๆ มีตั้งหลายมากล้นบ่เคยเว้ากล่าวเถิงท่านเอย
การเลือกคู่ควรกัน การที่หาคู่ครองนั้นคงมีหลายอย่าง เห็นหน้ากันก็มักเอาลืนล้นทรงไว้แม่นบ่ฟังนั่งนอนมองแต่มาเห็นหน้า บ่มียามสิหายสวง คิดฮอดหลายแท้ๆ สิตายย้อนแม่ผู้หญิง เป็นแบบนี้เรียกว่าบุพเพสันนิวาสปางหลังส่งนำมาให้ อีกอันหนึ่งนั้นเคยอยู่ใกล้แนบชิดสนิทกัน เห็นน้ำใจอัธยาศัยผ่องงามแลเยี่ยม เรียกว่าเหตุปัจจุบันแท้รวมกันสมสู่
อันว่าลักษณะของชายหญิงนั้นต้องดูอีกอย่างหนึ่ง ลักษณะของชายนั้นมีรูปสมบัติสมประกอบแท้งามด้ามดั่งผู้ชาย คุณสมบัติดีด้วยมีวิชาประกอบ มีความประพฤติดีมีศีลธรรมพวกนี้เต็มด้วยสู่อัน มีฐานะของบ้านเรือนชานเป็นที่อยู่ บ่แม่นคนเร่ร่อนขโมยข้าวสิ่งของ ทั้งมีที่ทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง สมควรหญิงเลือกเอาคนพวกนี้ไปหน้าจิงเจริญนั่นแหล่ว
ลักษณะของหญิงนั้นอย่าให้เป็นแม่หญิง แม่ยังแม่กระชังก้นฮั่ว แม่ครัวลงล่าง แม่ย่างแม้เหาะ แม่เลาะขอบรั้ว แม่มัวแต่เพลิน แม่เดินบ่เบิ่ง
หาเอาได้เมียแพงรู้ตลอด เรือน๓ น้ำ๔ พวกนี้เต็มพร้อมพร่ำใจ เรือนสามคือ เรือนผมนั้นอย่ารุงรังหมองหม่น เรือนไฟนั้นอย่าให้ขาดไม้ฟืนนั้นใส่คี่ไฟ เรือนนอนนั้นให้ดูแลสะอาด ฝูงหมู่หมอนเสือข้างหนุนนั้นสะอาดดี น้ำ๔ นั้นคือ น้ำกินน้ำใช้จะต้องระวังอย่าขาดแอ่ง เถิงแลงๆ นั้นกินหมากเคี้ยวหัวแย้มต่อกัน น้ำเตาปุนว่านั้นอย่าให้ขาดเขินบทสำหรับอกหัวใจก็ให้มีตีด้วย อย่าไปเป็นคนเฮี้ยวโกรธากริ้วโกรธหน้าตาอย่าทำบูดเบี้ยวแนวนี้บ่งามแท้เนอ
การเจ้าสาว โบราณนั้นถือการคุยบ่าว ทั้งคุยสาวหมู่นี้สำคัญแท้อย่าลืม ยามเมื่อสาวลงเขินฝ้ายกลางคืนรอบ่าว ทั้งผู้ชายก็ถือแคนเป่าจ้อยๆ เสียงระห้อยอ่อนหู ทั้งหญิงนั้นก็ได้ยินเสียงเว้าทั้งแคนเสียงม่วน สองก็หมายขอดมั่นเป็นเนื้อดอนเดียวได้สัญญากันแล้วสิลงไทยไปล่าง หลายปีบ่ว่างเว้นคะนิงเจ้าผู้เดียวไปเพื่อหาเงินได้สิกลับมาโอมเอาแต่ง
การขอโอม ธรรมดาโบราณพุ้นวิธีโอมแต่ง ญาติผู้ใหญ่นำขันหมากขันพลู ใส่ขันให้เรียบร้อยสาแต่งตัวเงิน๓ บาท ใส่ขันไว้ว่าเป็นของไขปาก ของไขปากไขคอสำหรับโคตรเชือนำให้ข่าวสาร ชาย ๒ คนถือขันหมากนี้ให้พ่อแม่ของหญิง ถ้าเผิ่นยินยอมตกส่งลูกสาวมาให้ เผิ่นจักมีใจด้วย เอาเงิน๓ บาท หากบ่พอใจแท้เงินจ้างก็บ่เอา
ค่ากินดอง ค่าดองนั้นคือราคาเป็นค่า หรือว่าเป็นสินสอดไว้ตัวเจ้าค่าพ่อใดในโบราณกล่าวไว้ว่าคนส่วนใหญ่ครองเมืองเป็นราชบุตรราชา หมู่แสนเมืองพร้อม อุปราชานั้นถือเป็นคนใหญ่ ต้องตีราคา ๖ ตำลึงว่าไว้ถือมั่นต่อมา ถ้าเป็นลูกเต้าฝูงหมูตาแสงหรือนายกอง ๓ ตำลึงจริงแท้ ถ้าว่าเป็นธรรมดาสามัญแล้วตีราคาเพียง ๖ บาท เถิงวันแต่งงานก็จิงมอบให้ทั้งคู่บ่าวสาว
อีกอย่างหนึ่งนั้นเจ้าโคตรฝ่ายชาย จัดไปพร้อมหมากพลูบุหรี่ข้าวต้ม ๒ กระหยังให้สองคนลือมอบ ถ้าฝ่ายหญิงพอใจก็รับเอาไว้ได้มาเว้าต่อกัน ถ้าบ่พอใจแล้วบ่มีดารเว้าต่อ ถ้าพอใจรับคำไว้แล้วมาปลิ้นเปลี่ยนไป เงิน ๓ บาทนั้นก็เหล่ามอบคนหญิง ถ้าผู้ชายเหลวไหล ก็เหลาคืนเงิน ๕ ครั้นพอใจกันแล้วหญิงก็เอามาแจก ข้าวต้ม ๒ กระหยั่งแจกพี่น้องกินแล้วส่งคืน เอากระหยั่งนั้นคืนไปบ้านเก่า แล้วก็เว้าหาฤกษ์ยามแล้วจิงแต่งงานนั่นแหล่ว
ความหมายว่ารักใคร่ ทางชายนั้นหาของไปมอบ เช่นว่าแหวนใสก้อยกระจวนน้อยใส่หูหรือเป็นของให้มีราคามีค่า หญิงต้องเก็บรักษาของพวกนั้นบ่มีให้เสื่อมเสีย ถ้าภายหลังมาบ่อพอใจด้วยเงินทองของฝากก็ต้องคืนมอบให้ฝ่ายชายนั้นดั่งเดิม
ของฝากอีกอันหนึ่งนั้น เป็นของฝากเห็นกันในฝูงคณาญาติกาสู่คนเห็นพร้อม คือว่าของนำไปสู่ขอหญิงแท้ คือข้าวต้ม ๔ กระยั้งทั้งกล้วยอ้อยน้ำตาลพร้อมสู่อัน และตะกร้าใบเล็กนั้นสานด้วยไม้ไผ่เป็นกระทงของอยู่ในมิไข่ ถั่ว งา หมาก พลู ไปพร้อมหลายเหลือล้น มีข้าวสาร ข้าวเปลือก ทั้งสีเสียเมล็ดฝ้ายฝู้นี้ใส่นำ ให้นำไปขอหญิงเค้าหัวปี หรือน้องหนุ่มเขามักใช้ตะกร้อ ๓๓ ใบ เพียงแท้คนหัวปีนั้นถูกครอง ถ้าเป็นคนกลางให้ใช้ตะกร้อ ๑๖ ใบ กับเงิน ๒ บาทนั้นมอบได้ดั่งหมาย
ครั้นว่าพ่อแม่ของหญิงได้รับเอาดั่งกล่าวมานี้ ถือว่าเป็นการยินยอมยืนให้ลูกสาวแล้วเพียงจริง พ่อแม่หั้นส่งข้าวต้มสองหยั่งกับเงินเป็นราคา ๑๐ เหรียญเหล่าคืนผู้ชายไว้ ส่วนว่าสิ่งนอกนั้นพ่อแม่ของหญิงนำเองไปแจกญาติกาได้
วันปลูกบ้านใหม่ ครั้นว่าทั้งสองได้ตกลงปล่งฮ่อม คิดจักปลูกบ้านเรือนสร้างอยู่ครอง ให้ฝ่ายชายจัดหาไม้มาทำเรือนแปลงปลูก ลงมาที่บ้านหญิงช่วยปลูกแปลง ฝูงญาติพี่น้องมาช่วยกันทำอาหารการกินฝ่ายผู้หญิงหาต้อนทำให้เสร็จในวันเดียวได้เป็นการดีการชอบ ส่วนเสื่อหมอนเตียงนอนพวกนี้เป็นของเจ้าฝ่ายหญิง
เครื่องสมนาสมมา การสมมานั้นเป็นหญิงโดยมาก จัดหมู่หมอนเสื้อผ้าจัดให้ฝ่ายผู้ชาย โบราณเรียกไว้ว่าเป็นเครื่องสมมา เป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิงจักเตรียมไว้ก่อนงานจะตกแต่ง เป็นธรรมเนียมเก่านี้ดีล้ำกว่าหลัง
งานกินดอง การกินดองนี้มีพิธีเป็นการใหญ่ ตามฐานะของไผมีหรือจนแล้วแต่เจ้าจะทำให้ค่าสม เตรียมการรับญาติพี่น้องมาร่วมในงาน มีอาหารการกินอยู่กันเพียงพร้อม ทั้งชายนั้นเอาพาขวัญมาตั้งผ่าง ทั้งฝ่ายหญิงก็ยกเครื่องสมมาเครื่องปูที่นอนพวกนี้มาพร้อมพร่ำกัน แล้วฝูงญาติพี่น้องมานั่งรวมกัน


แหล่งที่มาhttp://www.watisan.com/wizContent.asp?wizConID=198&txtmMenu_ID=7



  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

บุญกฐิน


บุญกฐิน

ผ้าที่ใช้สะดึงเป็นกรอบขึงเย็บจีวร เรียกกันว่าผ้ากฐิน มีกำหนดเวลาทำถวายเพียง ๑เดือน คือตั้งแต่แรม ๑ค่ำ เดือน๑๑ ถึงวันเพ็ญ เดือน ๑๒ เพราะมีกำหนดทำในระหว่างเดือน ๑๒ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนสิบสอง
มีเรื่องเล่าว่า พระภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตะวันมหาวิหาร ไปไม่ทันวันเข้าพรรษา จึงพักจำพรรษาที่เมืองสาเกต ออกพรรษาแล้วพากันเดินกรำฝนกรำแดด มีจีวรเปียกชุ่มไปด้วยน้ำฝน พอไปถึงแล้วก็เข้าเฝ้า พระองค์ทรงเห็นความลำลากของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้รับผ้ากฐินได้
ฝ่ายนางวิสาขามหาอุบาสิกา ครั้นทราบพระพุทธประสงค์แล้วก็นำผ้ากฐินไปถวายแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน นางเป็นคนแรกที่ถวายผ้ากฐิน การทำบุญกฐินจึงถือเป็นประเพณีตลอดมาจนทุกวันนี้
พิธีทำ ผู้มีจิตศรัทธาจะถวายกฐิน ณ วัดใดก็ตาม ให้เขียนสลาก(ใบจอง) ติดไว้ผนังโบสถ์บอกชื่อตัว ชื่อสกุล ตำแหน่งและที่อยู่ของตนให้ชัดเจน เพื่อมิให้ผู้อื่นไปจองทับ เพราะในปีหนึ่งวัดจะรับกฐินได้เพียงกองเดียว เมื่อจองแล้วก็จัดหาเครื่องบริขารและบริวารกฐินไว้ บอกญาติพี่น้องให้มาร่วมบุญถึงวันงานก็นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ฟังเทศน์ ตกกลางคืน ก็มีหมอลำเสพงันตลอดทั้งคืน รุ่งเช้าถวายอาหารบิณฑบาตแล้วแห่กฐินไปทอดที่วัด แห่รอบขวาศาลาโรงธรรม ๓ รอบ แล้วนำกฐินไปรวมไว้ที่ศาลาโรงธรรม พระสงฆ์จะระรับกฐินอยู่ที่นั้น หัวหน้าจะนำไหว้พระรับศีลว่าคำถวายกฐิน แล้วยกผ้ากฐินไปถวาย พระสงฆ์รับแล้วถ้าเป็นผ้าสำเร็จรูปคือไม่ต้องตัดเย็บย้อม พระสงฆ์รับแล้วจะทำการอุปโลกน์ ยกให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้รับ ต่อจากนั้นยกผ้าไปถวาย พระภิกษุจะทำการอนุโมทนาเป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นพระสงฆ์จะนำผ้ากฐินไปในโบสถ์ เพื่อทำการกรานและอนุโมทนากฐิน เป็นอันเสร็จพิธีฝ่ายผู้รับ
แต่ถ้าผ้ากฐินจะต้องตัดเย็บย้อมก่อน ครั้นพระสงฆ์รับแล้วท่านจะอนุโมทนา แล้วไปทำพิธีอุปโลกน์ในโบสถ์ จึงตัดเย็บย้อมจีวร แล้วทำกรานกฐินและอนุโมทนากฐินภายหลัง เป็นอันเสร็จพิธีฝ่ายผู้รับ
เนื่องจากกฐินเป็นพุทธบัญญัติ ผู้ถวายกฐินจึงได้บุญกุศลแรงผู้รับก็ได้อานิสงส์มาก การทำแต่ละอย่างต้องทำให้ถูกต้อง หากทำไม่ถูกต้องแทนที่จะได้บุญกลับเป็นบาปแทน จึงจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจเกี่ยวกับบุญกฐินนี้
การจอง กฐินมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ จุลกฐินและมหากฐิน จุลกฐินเป็นกฐินเล็ก (หรือกฐินแล่น) มหากฐินเป็นกฐินใหญ่ จุลกฐิน ทำให้เสร็จในวันเดียวเรื่อแต่การปั่นด้ายทอผ้า เย็บ ย้อมและถวาย ต้องทำให้เสร็จในวันเดียว กฐินชนิดนี้นานๆ จึงจะมีคนทำ มหากฐิน เป็นกฐินที่มีบริขาร บริวารมาก มีเวลาทำมาก มีคนนิยมทำมาก เพราะถือว่า ได้บุญกุศลมาก
ผ้ากฐินต้องทำให้ได้ขนาด สำหรับผ้าสบงให้ยาว ๖ศอก กว่าง๒ ศอก ผ้าจีวรและสังฆาฏิ ยาว ๖ ศอก กว้าง๔ ศอกถ้าผู้รับเล็กให้ลดขนาดลงตามส่วน
ผ้าที่ควรทำเป็นผ้ากฐินต้องเป็น ๑ ผ้าใหม่ ๒ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ ๓ ผ้าเก่า ๔ ผาบังสุกุล ๕ ผ้าตกตามร้านตลาด ส่วนผ้าที่ไม่ควรทำผ้ากฐิน คือ ๑ ผ้ายืมเขามา ๒ ผ้าทำนิมิตได้มา ๓ ผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา ๔ ผ้าเป็นนิสสังคคีย์ ๕ ผ้าที่ลักขโมยเขามาเป็นต้น
บริขาร ๘ เป็นบริขารที่จำเป็นขาดไม่ได้ คือ ๑ บาตร ๒ ผ้าสังฆาฏิ ๓ ผ้าจีวร ๔ผ้าสบง ๕ มีดโกน ๖ เข็ม ๗ ผ้าประคตเอว ๘ ผ้ากรองน้ำ ส่วนบริขารได้แก่เครื่องใช้สอย เช่นผ้าปูนั่ง ผ้าอาบน้ำ ผ้าห่มหนาว เสื่อ หมอน ถ้วย โถ โอ จานเป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีก็ได้ถือว่าไม่ห้าม
ผู้มีศรัทธา จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือเทวดา มารพรหม คนใดก็ได้ ซึ่งมีบริขาร สามารถจะถวายให้ภิกษุได้รับประโยชน์ทางพระวินัยได้ ย่อมเป็นผู้ควรทอดกฐินได้ทั้งสิ้น
ภิกษุผู้จำพรรษาครบ ๓เดือน และมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕ รูป ถ้าต่ำกว่าใช้ไม่ได้ แม่จะไปนิมนต์มาจากวัดอื่นก็ไม่ได้ ภิกษุผู้ควรรับผ้าองค์กฐิน ได้แก่พระเถระให้ผู้ใหญ่ในสงฆ์ ๑ เป็นผู้มีจีวรเก่ากว่าเพื่อน ๑ เป็นผู้ฉลาดสามารถที่จะทำกรานกฐินให้ถูกต้องได้๑ ผู้ประกอบด้วยลักษณะ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง สมควรให้รับผ้าองค์กฐิน
การทอดกฐิน การถวายกฐินไม่เหมือนถวายทานอย่างอื่น ผู้ถวายจะพอใจในภิกษุรูปใด จะยกถวายให้รูปนั้นไม่ได้ ต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ท่านจะให้ใครท่านจะอุปโลกน์ให้ ถ้าสงฆ์พร้อมกันจึงจะทอดให้ภิกษุองค์นั้นได้

คำอุปโลกน์กฐิน แบบ 2 รูป

รูปที่๑.
ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ เป็นของ.................พร้อมด้วย.....................ผู้ประกอบด้วยศรัทธา อุตสาหะพร้อมเพรียงกันนำมาถวาย แด่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้
ก็แลผ้ากฐินทานนี้ เป็นของบริสุทธิ์ ดุจเลื่อนลอยมาโดยนภากาศแล้วแลตกลงในที่ประชุมสงฆ์ จะได้จำเพาะเจาะจงลงว่าเป็นของพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็หามิได้ มีพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า ให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อจะทำซึ่งกฐินนัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาต และมีคำพระอรรถกถาจารย์ ผู้รู้พระบรมพุทธาธิบายสังวรรณนาไว้ว่า ภิกษุรูปใดประกอบด้วยศีลสุตตาธิคุณ มีสติปัญญาสามารถ รู้ธรรม ๘ประการ มีบุพกิจ เป็นต้น ภิกษุรูปนั้นจึงสมควร เพื่อจะกระทำกฐินนัตถารกิจ ตามพระบรมพุทธานุญาตได้
บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวง จะเห็นสมควรแก่ภิกษุรูปใด จงพร้อมกันยอมอนุญาตให้แก่ภิกษุรูปนั้น เทอญ (ไม่ต้องสาธุ)
รูปที่ ๒.
ผ้ากฐินทาน กับผ้าอานิสังสบริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นสมควรแก่....................เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถ เพื่อกระทำกฐินนัตถารกิจให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตได้ ถ้าพระภิกษุรูปใดเห็นไม่สมควรจึงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ (หยุดนิดนึง) ถ้าเห็นสมควรแล้วไซร้จงให้สัททญัญญาสาธุการะขึ้นให้พร้อมกันเทอญ
(สาธุ)

เมื่อว่าคำอุปโลกน์เสร็จแล้ว จะทำการสวดญัตติต่อพระสงฆ์นั่งให้ได้หัตถบาส วางผ้าไว้ตรงหน้า ภิกษุสองรูปสวดญัตติ
คำสวดกฐิน
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ, อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง, สังโฆ อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัสสะมะโต (อิตถันนามัสสะ) ทะเทยยะ, กะฐินัง อัตถะริตุง, เอสา ญัตติ,
สุณาตุ เม ภันเต สังโฆ, อิทัง สังฆัสสะ กะฐินะทุสสัง อุปปันนัง, สังโฆ อิมัง กะฐินะทุสสัง อายัสสะมะโต (อิตถันนามัสสะ), เทติ, กะฐินัง อัตถะริตุง, ยัสสายัสสะมะโต ขะมะติ, อิมัสสะ กะฐินะทุสสัสสะ, อายัสสะมะโต (อิตถันนามัสสะ), ทานัง กะฐินัง อัตถะริตุง, โส ตุณณะหัสสะ ยัสสะ นักขะมะติ, โส ภาเสยยะ
ทินนัง อิทัง สังเฆนะ, กะฐินะทุสสัง อายัสสะมะโต (อิตถันนามัสสะ), กะฐินัง อัตถะริตุง, ขะมะติ สังฆัสสะ ตัสมา ตุณณะหี เอวะเมตัง, ธาระยามิ
ทินนังอิทัง สังเฆนะ, กะฐินะทุสสัง อายัสสะมะโต (อิตถันนามัสสะ), กะฐินัง อัตถะริตุง, ขะมะติ สังฆัสสะ ตัสมา ตุณณะหี เอวะเมตัง, ธาระยามิ
ทินนังอิทัง สังเฆนะ, กะฐินะทุสสัง อายัสสะมะโต (อิตถันนามัสสะ), กะฐินัง อัตถะริตุง, ขะมะติ สังฆัสสะ ตัสมา ตุณณะหี เอวะเมตัง, ธาระยามิ
(ในวงเล็บ อิตถันนามัสสะ ให้ใส่ชื่อผู้ครองกฐินแทน) ถ้าจะเปลี่ยน สมมุติผู้รับฉายาว่า สุวัณโณ ก็เปลี่ยนเป็น สุวัณณัสสะ ภิกขุโน ถ้าผ้ายังมิได้ตัดก็เอาไปตัดแล้วเย็บย้อมให้แห้งแล้วนำมากราน ถ้าเป็นผ้าสำเร็จรูปพอสวดญัตติแล้วก็กรานกฐินต่อไปทีเดียว
เมื่อผ้าพร้อมแล้ว ภิกษุผู้จะรับกฐิน กระทำการถอนผ้าเก่าทั้งหมด แล้วพินทุและอธิฐานผ้าใหม่ทุกตัว จะกรานสบง จีวร หรือสังฆาฏิตัวใดตัวหนึ่งก็ได้ ให้กรานเพียงตัวเดียว ถ้าเป็นผ้าสำเร็จรูปกรานสังฆาฏิก็ได้ ถ้าเป็นผ้าตัดใหม่ ใช้ตัดผ้าสบง เพราะสบง ตัด เย็บ ย้อมง่ายกว่า เวลากรานก็เอาผ้าสบงกราน คือ ภิกษุผู้ได้รับกฐินหันหน้ามายังสงฆ์ ว่า นะโม ๓ จบ แล้วกรานสบงว่า อิมินา อันตะระวาสเกนะ กะฐินัง อัตถะรามิ ๓ หน เป็นอันเสร็จพิธีกราน ต่อไปว่า คำอนุโมทนา
ภิกษุผู้รับกฐินเป็นผู้นำว่า นะโม ๓ จบ พร้อมกัน เสร็จแล้วผู้รับกฐินหันหน้าลงมายังสงฆ์ กล่าวคำอนุโมทนาว่า อัตถะตัง อาวุโส สังฆัสสะ กะฐินัง ธัมมิโก กะฐินัตถาโร อะนุโมทะถะ ว่า ๓ จบ แล้วพระสงฆ์ว่าคำอนุโมทนาพร้อมกันว่า อัตถะตัง ภันเต สังฆัสสะ กะฐินัง ธัมมิโก, กะฐินัตถาโร อนุโมทามิ ๓ หน เป็นอันเสร็จพิธีเกี่ยวแก่การกรานกฐินเพียงนี้
ภิกษุผู้รับกฐินได้อานิสงส์ ๕ คือ ๑ เที่ยวไปไม่บอกลาภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ ๒ อยู่ปราศจากไตรจีวรก็ได้ ๓ ฉันอาหารเป็นวงล้อมตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปก็ได้ ๔ เก็บจีวรได้ตามปรารถนา ๕ ลาภที่เกิดขึ้นในวัด ได้แก่ภิกษุที่จำพรรษาในวัด และได้อานิสงส์ทั้ง ๕ ยืดไปถึงเพ็ญเดือน ๔
ส่วนผู้ถวายกฐินก็ได้อานิสงส์ ๕ คือ ๑ เป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย ๒ มีเกียรติฟุ้งไปทั่วสารทิศ ๓ เป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญ ๔ ไม่หลงตาย ๕ ตายแล้วไปสู่สวรรค์ อันตรวาสเกน กฐินัง อัตถรามิ ๓ หน เป็นอันเสร็จ พิธีกราน ต่อไปว่าคำอนุโมทนา
ภิกษุผู้รับกฐินเป็นผู้นำว่า นะโม ๓ จบ พร้อมกัน เสร็จแล้วผู้รับกฐินหันหน้าลงมายังสงฆ์ กล่าวคำอนุโมทนาว่า อัตถตัง อาวุโส สังฆัสสกฐินัง ธัมมิโก กฐินัตถาโร อนุโมทถ ว่า ๓ จบ และพระสงฆ์ว่าคำอนุโมทนาพร้อมกันว่า อัตถตัง ภันเต สังฆัสส กฐินัง ธัมมิโก, กฐินัตถาโร อนุโมทามิ ๓ หน เป็นอันเสร็จพิธีเกี่ยวแก่การกรานกฐินเพียงนี้
ภิกษุผู้รับกฐินได้อานิสงส์ ๕ คือ ๑ เที่ยวไปไม่บอกลาภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ ๒ อยู่ปราศจากไตรจีวรก็ได้ ๓ ฉันอาหารเป็นวงล้อมตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปก็ได้ ๒ อยู่ปราศจากไตรจีวรก็ได้ ๓ ฉันอาหารเป็นวงล้อมตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปก็ได้ ๔ เก็บจีวรได้ตามปรารถนา ๕ ลาภที่เกิดขึ้นในวัด ได้แก่ภิกษุที่จำพรรษาในวัด และได้อานิสงส์ทั้ง ๕ ลาภที่เกิดขึ้นในวัด ได้แก่ภิกษุที่จำพรรษาในวัด และได้อานิสงส์ทั้ง ๕ ยื่นไปถึงเพ็ญเดือน ๔
ส่วนผู้ถวายกฐินก็ได้อานิสงส์ ๕ คือ ๑ เป็นที่รักใคร่ของคนทั้งหลาย ๒ มีเกียรติฟุ้งไปในสารทิศ ๓ เป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญ ๔ ไม่หลงตาย ๕ ตายแล้วไปสู่สวรรค์
โบราณแสดงอานิสงส์แห่งการทำดีไว้ว่า ได้อานิสงส์เท่านั้นเท่านี้กัป พึงทราบคำว่ากัป ท่านอุปมาไว้ว่า มีภูเขาลูกหนึ่งสูงและใหญ่ ๑ โยชน์ ร้อยปีเทพเจ้านำเอาผ้าทิพย์เนื้อละเอียดมากวาด จนภูเขาลูกนั้นราบเรียบเสมอพื้นดิน เรียกว่ากัปหนึ่ง อีกอุปมาหนึ่ง มีเมืองๆหนึ่งกว้างยาว ๔ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ร้อยปีเทพเจ้านำเอาเมล็ดผักกาดทิ้งลง๑ เมล็ด จนเต็มเป็นกัปหนึ่ง

แหล่งที่มา

http://www.watisan.com/wizContent.asp?wizConID=700&txtmMenu_ID=7

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS